Research Association History

ประวัติความเป็นมาของสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย

รัฐบาลในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างนักวิจัย ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้ริเริ่มจัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร “นักวิจัยประยุกต์ทางสังคมศาสตร์” ขึ้นในปี 2504 มีการจัดอบรมหลักสูตรดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งในปี พ.ศ. 2523 ศาสตราจารย์ ดร.จุมพล สวัสดิยากร เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้พิจารณาเห็นว่า ผู้สำเร็จการฝึกอบรมหลักสูตร “นักวิจัยทางสังคมศาสตร์” ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มีจำนวนมากขึ้นและมีอยู่ทั่วประเทศ จึงได้เห็นควรจัดตั้งเป็นสมาคมอย่างเป็นทางการขึ้นเพื่อช่วยกันดำเนินการวิจัย และให้เป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวในการบริหารงาน เพื่อช่วยเหลือหน่วยงานและนักวิจัยของประเทศอีกทางหนึ่ง การก่อตั้งสมาคมนักวิจัยใช้เวลาดำเนินการถึงสามปีกว่าจึงสำเร็จ

ในปี 2526 ศาสตราจารย์ ดร.จุมพล สวัสดิยากร เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ให้การสนับสนุนโดยใช้สถานที่ของสภาวิจัยแห่งชาติ สมาคมได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทะเบียนเลขที่ จ.1946 ในนาม “สมาคมนักวิจัยประยุกต์ทางสังคมศาสตร์” เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2535 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมนักวิจัยทางสังคมศาสตร์” วันที่ 30 พฤษภาคม 2546 ทางสมาคมได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมนักวิจัย” ตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักวิจัยทั้งทางสังคมศาสตร์และนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาทำวิจัยร่วมกันตามนโยบายการวิจัยแบบบูรณาการหรือชุดโครงการวิจัยแห่งชาติ โดยให้อยู่ในความอุปถัมภ์ของสภาวิจัยแห่งชาติ

และเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 สมาคมนักวิจัยได้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย” ตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 เพื่อที่จะก้าวไปเป็นสมาคมที่เชื่อมโยงกับระดับภูมิภาคและในระดับสากลต่อไป

สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย มีผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการที่ผ่านมา ทำให้มีผู้สนใจจากภาครัฐและภาคเอกชนสมัครเข้าเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกสามัญจำนวนกว่า 4,000 คน