1st International Conference on Research and innovation for Sustainable Development (ICRIS) 2019

Lastest Modified Thursday 31 January 2019 , 10:20

หลักการและเหตุผล
    กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๗๙) ที่มุ่งบรรลุวิสัยทัศน์ ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ภายใต้หลักการสำคัญ 6 ประการคือ ความมั่นคง การสร้างความสามารถทางการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างโอกาส ความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม โดยมีเป้าหมายสำคัญคือนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความไม่สมดุลของการพัฒนา ทั้งยังเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวจะได้เป็นไปอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการระดมความคิดอย่างสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศในทุกด้านให้เป็นไปอย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน การสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจากการวิจัยถือเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยในทุกด้าน อาทิการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ให้เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (innovation-driven Economy) ) ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน (Local Economy) จากการพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศ เป็นต้น รวมถึงเป้าหมาย ที่มุ่งเน้นยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการใช้นวัตกรรมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ ประเทศไทย ๔.๐ ในทุกภาคส่วนของประเทศ
    การสร้างโอกาสของประเทศไทยจากนวัตกรรมถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะทำให้ประเทศไทยได้มีการขยายตัวอย่างเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รับมือกับการเปลี่ยนแปลงหรือความไม่แน่นอน (Uncertainties) ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างพลิกโฉมฉับพลัน (Disruptive change) สามารถสร้างทุนมนุษย์ที่มีคุณค่าได้อย่างยั่งยืนจากผลงานวิจัยที่สร้างสรรค์อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งการมุ่งเน้นแนวทางการวิจัยที่ช่วยสนับสนุนให้การดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี ทั้ง ๖ ประการได้บรรลุเป้าหมายภายในกรอบระยะเวลา ถือเป็นมิติสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเป็นแนวโน้มที่สำคัญในอนาคต ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการวิจัยเพื่อมุ่งเน้นสร้างขีดความสามารถในการดำเนินการวิจัยและต่อยอดไปสู่การสร้างนวัตกรรมที่สามารถจับต้องอย่างอย่างเป็นรูปธรรม จากการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อจักได้นำไปสู่ความเข้มแข็งของประเทศด้วยความมีเสถียรภาพทาง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

    สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญของภารกิจด้านการวิจัยที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้นโยบายการดำเนินงานของประเทศตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี ได้บรรลุเป้าหมายจากผลงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่การสร้างผลงานนวัตกรรมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้กำหนดให้มีนโยบายส่งเสริมนักวิจัยให้เพิ่มศักยภาพทางด้านการวิจัย การผลิตผลงานวิชาการต่าง ๆ ในประเด็นที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ภายใต้ความรู้ ความเชี่ยวชาญอย่างมีส่วนร่วมในสหสาขาวิชา อีกทั้งได้สนับสนุนให้นักวิจัยได้เผยแพร่ผลงานในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงการนำเสนอผลงานผ่านเวทีการประชุมวิชาการทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยปรากฏผลที่สามารถประเมินเป็นรูปธรรมได้โดยประจักษ์ต่อสาธารณะ เป็นประโยชน์ต่อสังคม ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านที่เกี่ยวกับชุมชน วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม อาชีพ เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง คุณภาพชีวิต หรือสุขภาพ
สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย จึงกำหนดจัดการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ ๑ "วิจัยและนวัตกรรมกับการพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน" เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัย และได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจากบุคลากรต่างสถาบัน และมุ่งพัฒนาความเป็นผู้นำด้านการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการนำผลการวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นไปเป็นเครื่องมือสนับสนุนในการพัฒนาประเทศไทยบนพื้นฐานการวิจัยและนวัตกรรม ให้เกิดความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสังคมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศไทย ๔.๐ หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคต และนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาติ ๒๐ ปี “ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการวิจัยและนวัตกรรมในระดับโลก เพื่อขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน”
Attached File